เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 7.จันทกุมารชาดก (544)
[1037] ดังที่ได้ยินมา พ่อเรือนและแม่เรือนผู้รักบุตรที่มีอยู่ในนครนี้
ทำไมจึงไม่ทัดทานพระราชาว่า
“อย่าทรงฆ่าบุตรผู้เกิดแต่ตนเลย”
[1038] เราเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์แก่พระราชา
และเป็นผู้เกื้อกูลแก่ชนบททั้งมวล
ใคร ๆ ก็ไม่พึงมีความแค้นเคืองกับเรา
ชาวชนบททั้งหลายไม่ช่วยกราบทูลให้พระองค์ได้ทรงทราบเลย
[1039] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า
“ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้องอาจดังราชสีห์”
[1040] แม่เรือนทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย
จงไปกราบทูลพระบิดาและวิงวอนขัณฑหาลพราหมณ์ว่า
“ขออย่าฆ่าพระกุมารทั้งหลาย
ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างที่หวังของชาวโลกทั้งมวล”
[1041] ไฉนหนอ เราพึงเกิดในตระกูลช่างรถ
ตระกูลปุกกุสะ หรือในตระกูลพ่อค้า
พระราชาก็ไม่พึงรับสั่งให้ฆ่าเราในการบูชายัญวันนี้
(จันทกุมารตรัสกับพระชายาทั้งหลายว่า)
[1042] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า
ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า
“เรามิได้เห็นความผิดเลย”
[1043] เจ้าผู้มีความคิดทั้งปวง จงไปหมอบลงแทบเท้า
ของผู้เป็นเจ้าขัณฑหาละ เรียนว่า
“ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายได้ประทุษร้ายอะไรท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :345 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 7.จันทกุมารชาดก (544)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[1044] พระเสลาราชกุมารีผู้ควรการุณย์ทรงเห็นพระภาดาทั้งหลาย
ที่เขานำมาเพื่อบูชายัญ จึงทรงคร่ำครวญว่า
ได้ยินว่า พระบิดาของเราทรงปรารถนาสวรรค์
รับสั่งให้ตั้งพิธีบูชายัญขึ้น
[1045] พระวสุลราชนัดดากลิ้งเกลือกไปมาต่อพระพักตร์
ของพระราชากราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ
ข้าพระบาทยังเป็นเด็ก ไม่ถึงความเป็นหนุ่ม
ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอย่าฆ่าพระบิดาของข้าพระบาทเลย”
(พระราชาตรัสว่า)
[1046] วสุละ นั่นพ่อเจ้า เจ้าจงไปพร้อมกับพ่อ
เจ้าพากันพร่ำเพ้ออยู่ในพระราชวัง ได้ก่อทุกข์ให้แก่เราแท้
จงปล่อยพระกุมารไป ณ บัดนี้เถิด
เราขอเลิกการใช้บุตรบูชายัญ
(ขัณฑหาลปุโรหิตกราบทูลว่า)
[1047] เมื่อก่อนทีเดียว ข้าพระองค์ได้กราบทูลพระองค์แล้วว่า
“การบูชายัญนี้ทำได้ยาก เกิดได้แสนยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
พระองค์จึงทรงทำยัญที่พวกข้าพระองค์ได้ตระเตรียมไว้แล้ว
ให้กระจัดกระจายไปเล่า
[1048] ชนเหล่าใดบูชายัญเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นบูชายัญแทนก็ดี
และอนุโมทนามหายัญเช่นนี้ของเหล่าชนผู้กำลังบูชาอยู่ก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปสู่สุคติ
[1049] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช ข้าพระองค์ได้ตระเตรียม
จัดแจงยัญด้วยแก้วสารพัดไว้เพื่อพระองค์แล้ว
เชิญเสด็จออกเถิด พระองค์ทรงบูชายัญแล้วจักเสด็จไปสู่สวรรค์
บันเทิงพระหฤทัย พระเจ้าข้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :346 }